สัญลักษณ์โรงเรียน
สัญลักษณ์โรงเรียน

          พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียร ของพระราชโอรสพระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ คำว่า พระเกี้ยว ถ้าเป็นคำนาม แปลว่าเครื่องประดับศีรษะ หรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยา แปลว่า ผูกรัดหรือพันพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ในสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ "จุฬาลงกรณ์" แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมีความหมายสำคัญยิ่ง คือ เกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่าจุลมงกุฎหรือพระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวกันถึง พระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหมายความว่า "พระจอมเกล้าน้อย"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์)ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือต่อมาได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนมหาดเล็กจึงทรงโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมา เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อ ซึ่งได้พระราชทานใหม่ตลอดมา

                 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล. 0002/1652 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2521 เป็นต้นมา